การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

การพัฒนาความยั่งยืน

 

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

ความสำคัญ

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีความรับผิดชอบเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการส่งมอบสินค้าจากกระบวนการผลิตไปสู่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการตั้งแต่การคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพ มีการประเมินผล สามารถสอบกลับได้ ครอบคลุมความหลากหลายและความเสมอภาค เช่น การทำธุรกิจร่วมกับ Supplier ที่มีเจ้าของธุรกิจเป็นผู้หญิง ชุมชนกลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนพิการ พร้อมทั้งบูรณาการแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

เป้าหมาย และ ผลการดำเนินงาน

ตัวชี้วัด เป้าหมาย (ร้อยละ) ผลการดำเนินงาน ปี 2566
คู่ค้าลำดับที่ 1 ได้รับการสื่อสารจรรยาบรรณและจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า 100% 100%
คู่ค้าลำดับที่ 1 ลงนามรับทราบจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า 100% 100%
คู่ค้ารายสำคัญที่ได้รับการประเมินความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) ในพื้นที่ปฏิบัติการ 100%
ภายในปี 2573
15%

ปี 2566 ผลการตอบแบบประเมินตนเองด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาลจากคู่ค้า และ ผลการตรวจประเมินความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) ในพื้นที่ปฏิบัติการ พบว่า “ไม่มีประเด็นความเสี่ยง”

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายการจัดซื้อของกลุ่มบริษัทศรีตรัง ให้สอดคล้องกับนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม และถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจว่าด้วยคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้า อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และการพัฒนาให้เกิดผู้ขายรายใหม่ โดยกำหนดแนวปฏิบัติในการงานขององค์กร และการคัดเลือกดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เลือกซื้ออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับหรือแรงงานทาส การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การจ้างงานอย่างเป็นธรรม และการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้คู่ค้ามีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้มีการตรวจประเมิน Supplier ในระบบ ISO9001, ISO14001, ISO45001 และ BSCI code of conduct ที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคม และ สิ่งแวดล้อม ทั้งขณะที่การเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่บริษัทฯ การประเมินตนเองและการตรวจประเมินประจำปี

บริษัทฯ ได้จัดทำจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจและแนวปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งนี้ หลักการที่นำมาจัดทำจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจและแนวปฏิบัติ นอกจากข้อกำหนด ข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังได้อ้างอิงถึงกฎบัตรและมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คือ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) และ ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เป็นต้น

จรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)

นโยบายการบริการสินเชื่อทางการค้ากับคู่ค้า

การกำหนดสินเชื่อทางการค้ากับคู่ค้าแต่ละราย บริษัทให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน การส่งมอบสินค้าที่ได้มาตรฐานตามเวลาที่กำหนด และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ โดยสินเชื่อดังกล่าวต้องสะท้อนถึงเครดิต และความสามารถในการบริหารสภาพคล่องของบริษัทและคู่ค้า ทั้งนี้ระยะเวลาสินเชื่อทางการค้าที่บริษัทมีกับคู่ค้าส่วนใหญ่อยู่ในระยะเวลา 30 วัน

ระยะเวลาการชำระเงิน ค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริงในปี 2566
30 วัน 20.4 วัน

แนวทางการบริหารจัดการคู่ค้า

บริษัทฯ ตระหนักถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน จึงได้กำหนดประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในมิติของเศรษฐกิจและการกำกับดูแล สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) มาผสมผสานไว้ในแนวทางการบริหารจัดการคู่ค้า โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ผ่านกระบวนการ ดังนี้

1. กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคู่ค้า

บริษัทฯ จะประเมินและคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่โดยใช้เกณฑ์ประเมินที่ครอบคลุมเกณฑ์ประเมินที่ครอบคลุมด้านสังคม เช่น การใช้แรงงาน ความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านธรรมาภิบาล และ ความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ESG)

2. การประเมินความเสี่ยงและจำแนกประเภทคู่ค้า

บริษัทฯ ได้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินความสำคัญของคู่ค้า (Critical Supplier) และความเสี่ยงด้าน ESG (ESG Risk) เพื่อจัดกลุ่มคู่ค้าตามความเสี่ยง โดยพิจารณาถึงลักษณะสินค้าและการให้บริการคู่ค้า การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจ้างในแต่ละกลุ่มสินค้าและการให้บริการ มีการกำหนดเกณฑ์การจำแนกประเภทคู่ค้า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการคู่ค้าได้อย่างเหมาะสม สามารถแบ่งตามประเภท ดังนี้

  • คู่ค้าทางตรง หรือ คู่ค้าทั่วไปลำดับที่ 1 (Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการโดยตรงแก่องค์กร
  • คู่ค้าทางอ้อม (Non-Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการแก่คู่ค้าลำดับที่ 1
  • คู่ค้ารายสำคัญ (Significant Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้ารายสำคัญที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการโดยตรงแก่องค์กร
  • คู่ค้าทางอ้อมรายสำคัญ (Significant Non-Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้ารายสำคัญที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการแก่คู่ค้าลำดับที่ 1

3. ตรวจประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้า

บริษัทฯ จะมีการลงพื้นที่ตรวจประเมินคู่ค้ารายสำคัญ (Onsite Audit) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายคุณภาพ ฝ่ายความปลอดภัย ฝ่ายความยั่งยืน โดยมีความถี่อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกๆ 2 ปี ครอบคลุมประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล

4. การสร้างความสัมพันธ์และการพัฒนาคู่ค้า

ภายหลังจากขั้นตอนการตรวจประเมิน หากพบว่าคู่ค้ารายใดมีความเสี่ยงสูง (High Risk) บริษัทฯ จะดำเนินการเข้าตรวจประเมินคู่ค้าแบบเชิงรุกเพื่อค้นหาความเสี่ยงที่แท้จริง และจัดทำแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective action plan) เพื่อใช้ติดตามการแก้ไขข้อบกพร่องของคู่ค้า พร้อมทั้งอบรม ให้ความรู้ รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อให้คู่ค้ามีความเข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจต่อไป

การร่วมพัฒนาคู่ค้า (Supplier development program)

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถในการผลิตและให้บริการของคู่ค้าให้ได้มาตรฐาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้คู่ค้ามีความรับผิดชอบต่อสังคม ชี้แจงและดูแลให้คู่ค้าเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อแรงงานตนเองอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้มีการสื่อสาร อบรมผู้รับเหมาประจำปี ศึกษาดูงาน การประชุมร่วมกับคู่ค้า และการตรวจประเมินคู่ค้าประจำปี เพื่อให้คำแนะนำ ร่วมแก้ไขปัญหา พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและการส่งมอบให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทฯ รวมถึงติดตามตรวจสอบและประเมินผลคู่ค้า เพื่อพัฒนาการประกอบธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน

ในปี 2566 ฝ่ายจัดซื้อ ได้ร่วมกับ บริษัทไทยอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ จำกัด ในการปรับปรุงการใช้งานแกนม้วนพลาสติก จากเดิมที่เป็นแกนกระดาษ ซึ่งชำรุดง่ายในการใช้งาน มาเป็นแกนพีวีซี ซึ่งสามารถส่งกลับไปยัง บริษัทผู้ผลิตแกนใช้งานซ้ำได้ในระยะเวลานานกว่า เป็นการลดการใช้ทรัพยากร สามารถหมุนเวียนแกนพีวีซีที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ 6,270 ม้วน และลดต้นทุนได้ 940,500 บาท

ก่อนปรับปรุง หลังปรับปรุง

แกนกระดาษ

แกนพีวีซี