การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

การพัฒนาความยั่งยืน

 

การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญ ในการบริหารจัดการความยั่งยืนทางด้านสังคม หมายถึงการให้ความเคารพและปกป้องสิทธิของทุกคนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของพนักงาน, ลูกค้า, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, หรือชุมชนในพื้นที่ที่ธุรกิจดำเนินการ การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านจึงเป็นกระบวนการที่ใช้ในการประเมินและจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ครอบคลุม ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง การตรวจสอบนี้มุ่งเน้นการป้องกันและการแก้ไขเพื่อลดผลกระทบ ตามแนวทางหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights - UNGPs ) ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ “ปกป้อง เคารพ เยียวยา”

กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD)

บริษัทฯ ดำเนินการจัดทำกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ทราบถึงสถานะของการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า อันจะทำให้สามารถระบุ ป้องกัน บรรเทา และจัดการกับผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นในการดำเนินงานของธุรกิจได้ อ้างอิงตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) และแนวทางการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านสำหรับบริษัทจดทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ก.ล.ต. เพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ซึ่งกำหนดการดำเนินการเป็นประจำทุกๆ 2 ปี โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. การกำหนดขอบเขตการตรวจสอบ

บริษัทฯ ได้กำหนดขอบเขตกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านให้ชัดเจน ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) เช่น เด็ก ผู้พิการ สตรี ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ แรงงานที่ว่าจ้างผ่านบุคคลที่สาม ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น เพศทางเลือก ผู้สูงอายุและสตรีตั้งครรภ์ เป็นต้น ในทุกๆ พื้นที่ปฏิบัติการที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจหรือมีสิทธิในการควบคุมจัดการ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชนและชนกลุ่มน้อย สิทธิในห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสิทธิของลูกค้าและผู้บริโภค เป็นต้น

2. การระบุประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง

บริษัทฯ ได้ทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งกิจกรรมทางตรงที่บริษัทฯ ดำเนินการเอง และทางอ้อมผ่านการดำเนินการของคู่ค้า ผู้รับเหมา หรือบริษัทร่วมค้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงทบทวนแนวโน้มประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันในตลาดโลก แล้วนำมาจัดเป็นกลุ่มหัวข้อที่ใกล้เคียงกันเพื่อจัดทำและปรับปรุงรายการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Risk Assessment) และมอบหมายให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมระบุและประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน

ขอบเขตประเด็นการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ

สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชนท้องถิ่นชุมชนพื้นเมือง ห่วงโซ่อุปทาน สิทธิความมั่นคงความปลอดภัย สิทธิสิ่งแวดล้อม สิทธิของลูกค้าและผู้บริโภค
  • การรับรองเสรีภาพในการสมาคม
  • การขจัดแรงงานบังคับ
  • การยกเลิกการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ
  • การขจัดการเลือกปฏิบัติ
  • สวัสดิการและหลักประกันทางสังคม
  • การมีส่วนร่วมในความโปร่งใสขององค์กร
  • การคุ้มครองสิทธิของชุมชนท้องถิ่น
  • การรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน
  • การประเมินผลกระทบต่อชุมชน
  • สนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างเพศและเพศสภาพ
  • การปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้าในประเด็น ESG
  • มาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องในผลิตภัณฑ์หรือบริการ
  • การคุ้มครองและป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดี
  • การบริหารจัดการวัตถุอันตราย
  • การคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล
  • การใช้แหล่งน้ำอย่างเคารพ
  • การบริหารจัดการขยะและของเสีย
  • การใช้พลังงานอย่างเคารพ
  • การบริหารจัดการมลพิษ
  • การเคารพต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
  • การลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
  • การคุ้มครองสิทธิทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

3. การประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัทฯ นำประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่ระบุในรายการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน มาเป็นเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยง โดยการใช้ Risk Matrix เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงซึ่งพิจารณาระดับความเสี่ยงของผลกระทบและเกณฑ์ระดับโอกาสที่จะเกิดขึ้น ของประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเด็น

รูปที่ 1 การจัดลำดับความสำคัญประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

เกณฑ์ระดับความเสี่ยง

การพิจารณาระดับความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง สูง และสูงมาก

เกณฑ์การประเมินโอกาสเกิด (Likelihood)

การประเมินโอกาสเกิด เป็นเกณฑ์ที่ใช้ควบคู่กับการจัดระดับความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ประเมินใช้ในการตัดสินใจประเมิน โดยเกณฑ์การประเมินโอกาสเกิด จะแบ่งเป็นระดับ ดังนี้ โอกาสเกิดต่ำ กลาง สูง และสูงสุด

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการประเมินความเสี่ยงในรายการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ซึ่งครอบคลุมการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ คิดเป็นร้อยละ 100 ของพื้นที่ปฏิบัติการ

โดยผลจากการดำเนินการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ พบว่ามีประเด็นความเสี่ยง 1 ประเด็น ดังนี้

ความเสี่ยงด้านสิทธิสิ่งแวดล้อม

พบความเสี่ยงในหัวข้อการบริหารจัดการมลพิษจากการดำเนินงานที่อาจจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนโดยรอบโรงงาน ซึ่งจากผลการประเมินพบว่ามีความเสี่ยงในระดับปานกลาง

4.การกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบและป้องกัน

บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลดและควบคุมผลกระทบเชิงลบให้อยู่ในระดับต่ำหรืออยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดเตรียมมาตรการป้องกันและมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

ประเด็นความเสี่ยง ลักษณะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มาตรการป้องกันและลดผลกระทบ
  • ด้านสิทธิสิ่งแวดล้อม
  • ความเสี่ยงในหัวข้อการบริหารจัดการมลพิษจากการดำเนินงานของทางบริษัทฯที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบโรงงาน เช่น กลิ่นจากวัตถุดิบ และน้ำเสีย ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญได้ (ระดับความเสี่ยง:ระดับปานกลาง)
  • ปรับปรุง ระบบบำบัดมลพิษเพื่อให้มีประสิทธิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น
  • เพิ่มมาตรการควบคุมและติดตามเฝ้าระวังเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
  • ทำการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกในการหาแนวทางป้องกันและลดผลกระทบ

5. การติดตามและทบทวนผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัทฯ กำหนดตัวชี้วัดเพื่อติดตามและทบทวนมาตรการลดและควบคุมผลกระทบเชิงลบจากความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในทุกประเด็น ที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น จำนวนข้อร้องเรียนที่ได้รับและสถานการณ์แก้ไข เป็นต้น โดยมีการเสนอให้กับฝ่ายบริหารพิจารณาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนแต่ละประเด็นได้ถูกแก้ไขและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เนื่องจากประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป ตามการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นบริษัทฯ จะดำเนินการทบทวนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การระบุและประเมินความความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมาตรการบรรเทาและป้องกันผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงจัดให้มีช่องทางรับข้อร้องเรียนสำหรับพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียในกรณีที่มีเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท เพื่อนำมาทบทวนปรับปรุงแก้ไข และสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ

6. การแก้ไขและเยียวยา

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างเคารพต่อสิทธิมนุษยชน จึงได้กำหนดให้มีแนวทางการแก้ไขและมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ รวมถึงดำเนินการสรุปบทเรียนเพื่อจัดทำมาตรการป้องกันการเกิดซ้ำ โดยมีการพิจารณาตามลำดับขั้นตอนการดำเนินงานจากฝ่ายบริหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นไปตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้