โครงการเนเปียร์ พืชพลังงานเพื่อชุมชน
ความเป็นมาของโครงการ
ในการผลิตและระบบบำบัดกลิ่นของโรงงาน กลุ่มบริษัทศรีตรังจะใช้น้ำรีไซเคิลจากบ่อสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดผสมกับน้ำจากบ่อน้ำดี (น้ำฝน) ในโรงงานมาใช้ ซึ่งมีปริมาณน้ำที่ผ่านระบบประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และปริมาณจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายกำลังการผลิต โดยโรงงานไม่สามารถปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วออกจากโรงงานได้ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
ดังนั้น บริษัทฯ จึงจัดสรรพื้นที่ว่างภายในโรงงาน เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์สายพันธุ์ปากช่อง 1 สายพันธุ์หญ้าหวานอิสราเอล สายพันธุ์ท้ายเขื่อนซุปเปอร์ลีฟ และสายพันธุ์เนเปียร์แคระ และนำน้ำที่เหลือใช้จากการกระบวนการบำบัดกลิ่นมารดพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นการเตรียมบ่อน้ำให้มีปริมาณน้ำลดลงเพื่อรองรับน้ำหน้าฝนและหน้ายางต่อไป นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้นำตะกอนส่วนเกินจากระบบบำบัดน้ำเสียมาเป็นวัสดุปรับปรุงดินอีกด้วย
การดำเนินโครงการร่วมกับชุมชน
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) สาขากาฬสินธุ์ ร่วมกับตัวแทนชุมชนที่เป็นชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรของโรงงาน ได้แก่ ชุมชนบ้านคำเม็ก ชุมชนบ้านโนนทอง ชุมชนบ้านหนองไผ่ และชุมชนบ้านโคกกว้าง ดำเนินโครงการเนเปียร์ พืชพลังงานเพื่อชุมชน เพื่อสนับสนุนหญ้าเนเปียร์ให้กับชุมชนนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับโค-กระบือ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินโครงการดังนี้
1) โรงงานปลูกหญ้าเนเปียร์แบบวางร่องบนพื้นที่จำนวน 25 ไร่ โดยจัดแบ่งร่องให้ชาวบ้าน จำนวน 2 ร่องต่อคน ตามใบลงทะเบียน
2) ชุมชนที่ขึ้นทะเบียน ดำเนินการดูแลหญ้าเนเปียร์ของตัวเอง โดยโรงงานทำการส่งน้ำให้ตามกำหนด
3) โรงงานสุ่มตรวจคุณค่าทางสารอาหารของหญ้าเนเปียร์ ซึ่งการประเมินคุณค่าของอาหารหยาบที่ใช้กับสัตว์เคี้ยวเอื้อง จะนิยมใช้ค่า NDF (Neutral Detergent Fiber) และ ADF (Acid Detergent Fiber) ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนในการนำไปเลี้ยงสัตว์
ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างหญ้าเนเปียร์จำนวน 2 ตัวอย่าง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง จังหวัดขอนแก่น ดังแสดงในตาราง พบว่า มีเยื่อใยที่ไม่ละลายในสารฟอกที่เป็นกลาง (%NDF) มากกว่า 50% แสดงว่า ตัวอย่างหญ้าเนเปียร์สัดส่วนสารอาหารคาร์โบไฮเดรทที่สัตว์สามารถย่อยในกระเพาะได้มากขึ้น และ มีเยื่อใยที่ไม่ละลายในสารฟอกที่เป็นกรด (%ADF) ไม่สูงมาก แสดงว่าพืชอาหารสัตว์มีการย่อยได้สูง ดังนั้นสรุปได้ว่า หญ้าเนเปียร์ของโรงงานมีสารอาหารอยู่ในระดับกลาง (จำพวกเส้นใย) แต่ยังไม่สูงมาก
ชนิดตัวอย่าง | %วัตถุแห้ง (on dry matter) | |
---|---|---|
%NDF | %ADF | |
หญ้าเนเปียร์ท้ายเขื่อน อายุ 30 วัน | 54.6 | 28.9 |
หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 อายุ 30 วัน | 62.5 | 39.2 |
4) โรงงานเปิดพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ตามวันเวลาที่กำหนด (สัปดาห์ละ 3 ครั้ง วันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์) เพื่อให้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวหญ้าเนเปียร์ โดยจะมีการบันทึกปริมาณและสรุปในระบบ
ผลลัพธ์ของโครงการฯ ต่อชุมชน ปี 2566
- มีตัวแทนชุมชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการฯ จำนวน 114 คน
- บริษัทฯ สนับสนุนหญ้าเนเปียร์ทั้งหมด 121,855 กิโลกรัม ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนให้กับชุมชนในการซื้อหญ้าเนเปียร์อาหารสัตว์ คิดเป็น 243,711 บาท
(อ้างอิงราคาหญ้าเนเปียร์ จากแปลงหญ้า จ.กาฬสินธุ์ กิโลกรัมละ 2 บาท)
ผลลัพธ์ของโครงการฯ ต่อบริษัทฯ ปี 2566
- นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วปริมาณ 2,670 ลูกบาศก์เมตร ออกจากบ่อน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำในฤดูฝน
- ลดการกำจัดตะกอนส่วนเกินจากระบบบำบัดน้ำเสียปริมาณ 1,354 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นปริมาณ 473.90 ตัน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัด 1,895,600 บาท
(อ้างอิงราคาค่าบริการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม-กากตะกอน จำนวน 4,000 บาท/ตัน ทั้งนี้ไม่นับรวมค่าขนส่ง) - ต้นหญ้าเนเปียร์ ที่มีอายุได้ 60-90 วันขึ้นไป มีความสูงประมาณ 2.50-3.00 เมตร สามารถเป็นแนวกันลมช่วยลดความเข้มข้นของกลิ่นจากโรงงานได้
- สร้างทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อน้ำเสียของโรงงานเปลี่ยนไป ชาวบ้านมีความมั่นใจกับน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดของโรงงาน
การติดตามประเมินผลโครงการ
บริษัทฯ ได้มีการติดตามประเมินผลโครงการ ซึ่งได้มีการสำรวจแบบสอบถามความพึงพอใจต่อโครงการประจำปี 2566 ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 114 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความ
พึงพอใจต่อภาพรวมโครงการระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 98 รายละเอียดผลการสำรวจดังแสดงในกราฟ