บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา มกราคม 2560
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนมกราคม 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 85.55 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2559 15.19 เปอร์เซ็นต์ มีสาเหตุจากปัจจัยดังต่อไปนี้ อุปทานยางออกสู่ตลาดค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะภาคใต้ของไทยเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งได้รับความเสียหายและต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ผู้ประกอบการส่วนมากในประเทศ ขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงานและส่งมอบ ทำให้ต้องเร่งซื้อ จึงเกิดการแข่งขันสูง จีนเร่งซื้อยางเพื่อเตรียมสต็อกก่อนวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน กอปรกับสต็อกยางจีนลดลงเหลือ 306,641 ตัน ณ วันที่ 20 มกราคม จาก 308,451 ตัน เมื่อวันที่ 13 มกราคม ราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจหลายประเทศออกมาสดใส ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมถึงยางพารา ภาคการผลิตของจีนเดือนธันวาคมขยายตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี ภาคการผลิตของยูโรโซนเดือนธันวาคมขยายตัวขึ้นอย่างสดใสและรวดเร็วที่ระดับ 54.3 จาก 53.7 ในเดือนพฤศจิกายน อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือนธันวาคม อยู่ที่ 1.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาด ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547
ในเดือนธันวาคม 2559 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 344,229 ตัน เพิ่มขึ้น 6.64 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤศจิกายน และ 3.22 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 18,903.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.71 เปอร์เซ็นต์จากเดือนธันวาคม และ 34.56 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในปี 2559 ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 3,806,324 ตัน ลดลง 6.97 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 167,155.60 ล้านบาท ลดลง 13.81 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนธันวาคม 2559 ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 10.20 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 13.41 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.09 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.85 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในปี 2559 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 113.30 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 6.62 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 1.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.73 เปอร์เซ็นต์ yoy
ที่มา: สมาคมยางพาราไทย